โครมาติน เกิดจากการที่สายยาวของ DNA 1 สายพันรอบโปรตีนที่ชื่อ ฮิสโตน(histone) ซึ่ง DNA เป็นสารจำพวกกรดนิวคลีอิก(nucleic acid) ส่วนฮิสโตนเป็นโปรตีน โครมาตินจึงจัดเป็นสารประกอบนิวคลีโอโปรตีน(nucleoprotein) โดยโครมาตินจะพบได้ในช่วงที่เซลล์ไม่มีการแบ่งตัว หรือเซลล์อยู่ในระยะอินเตอร์เฟส(Interphase)
โครมาตินพบได้ในนิวเคลียสของเซลล์ เมื่อมีการย้อมสี โครมาตินจะติดสีด้วยความเข้มที่แตกต่างกันในแต่ละบริเวณ โครมาตินส่วนที่ติดสีเข้มเรียกว่า เฮเทอโรโครมาติน (heterochromatin) คือส่วนที่มียีน(gene) อยู่น้อยมาก หรือไม่มียีนอยู่เลย ส่วนที่ย้อมติดสีจางเรียกว่า ยูโครมาติน (euchromatin) ซึ่งเป็นส่วนของตำแหน่งของยีน
ในกระบวนการแบ่งเซลล์ โครมาตินจะมีการขดตัวสั้นและแน่นเป็นแท่งโครโมโซม เมื่อโครโมโซมมีการจำลองตัวเองจนมีลักษณะเป็นคู่จะเรียกแต่ละแท่งในโครโมโซมว่า โครมาติด(chromatid)