การกลายพันธุ์ (Mutation)
หากยีนเกิดผิดไปจากปกติ เรียกว่า การกลายพันธุ์ (Mutation) ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
หรือถูกกระตุ้นให้เกิดก็ได้ โดยส่วนมากเมื่อยีนผิดปกติไปจะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตนั้นมากกว่าผลดี เช่น ในคน สามารถทำให้ป่วย หรือเสียชีวิตได้ โรคที่เกิดจากสาเหตุนี้เรียกว่าโรคทางพันธุกรรม (Genetic disease) ซึ่งจะถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไปหรือไม่ก็ได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutation)
ตัวกระตุ้นหรือชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ เรียกว่า สิ่งก่อกลายพันธุ์ (Mutagen) เช่น
รังสี (Radiation)
รังสีที่กระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์มี 2 ชนิด คือ
– Ionizing radiation เช่น รังสีบีต้า รังสีแกมมา
รังสีเอกซ์
– Non-ionizing radiation เช่น รังสีอุลตราไวโอเลต
สารเคมี เช่น
– สารโคลชิซีน (colchicine)
มีผลทำให้มีการเพิ่มจำนวนชุดของโครโมโซมผลดังกล่าวนี้ทำให้ผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น
– สารไดคลอวอส (Dichlovos) ที่ใช้กำจัดแมลง และสารพาราควอต (Paraquat) ที่ใช้กำจัดวัชพืชทำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซมในคนและสัตว์ได้
สิ่งก่อกลายพันธุ์หรือมิวทาเจนหลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) จากเชื้อราบางชนิดทำให้เกิดมะเร็งตับ การจัดเรียงเบสในกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นผิดพลาด มีผลให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยเช่นกัน
ประเภทของการกลายพันธุ์
การกลายพันธุ์เกิดกับเซลล์ 2 ลักษณะ คือ
เซลล์ร่างกาย (Somatic cell ) เซลล์ชนิดนี้เมื่อเกิดมิวเทชันแล้ว จะไม่ถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไป
เซลล์สืบพันธุ์ (Sex cell) เซลล์เหล่านี้เมื่อเกิดมิวเทชันแล้วจะถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไปได้ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดและส่งผลต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตด้วย