DNA ประกอบด้วยน้ำตาล ฟอสเฟต และเบสทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ A(อะดินีน) T(ไทมีน) C(ไซโตซีน) G(กวานีน) ซึ่งเบสทั้งสี่นี้จะเรียงสลับกันไปเรื่อยๆ ในสาย DNA กลายเป็นรหัส เรียกว่า รหัสพันธุกรรม (genetic code) ซึ่งแต่ละเซลล์ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นเซลล์ผิวหนัง เซลล์กล้ามเนื้อ หรือเซลล์ตับมีรหัสพันธุกรรมที่เหมือนกัน แต่เซลล์แต่ละชนิดจะทำหน้าที่แตกต่างกันได้ เนื่องจากแต่ละเซลล์มีการใช้ยีนเพียงบางยีนเท่านั้น โดยยีนแต่ละยีนจะแสดงออกในเซลล์ที่แตกต่างกันออกไป โดยลำดับการเรียงตัวของเบสเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นตัวกำหนดความเป็นคุณ เปรียบเทียบยีนเหมือนสูตรอาหารในการสร้างโปรตีนแต่ละชนิด ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของคุณเอง โดยสูตรอาหารเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บางคนมีผมหยักศกเหมือนพ่อ นั่นก็แสดงว่าคนๆนั้นได้รับยีนที่ควบคุมเซลล์รากผม (hair follicle cell) ให้สร้างเส้นผมที่มีลักษณะหยักศกจากพ่อนั่นเอง ยีนเป็นคนออกคำสั่งว่าเซลล์ต่างๆ จะต้องทำงานอย่างไร และร่างกายจะต้องมีการแสดงออกลักษณะใดออกมา ซึ่งในแต่ละเซลล์มีการเปิดปิดยีนแต่ละยีนแตกต่างกันออกไปเพื่อให้เซลล์แต่ละเซลล์ได้ทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน และDNA สายยาวๆที่ประกอบด้วยยีนเหล่านี้ จะขดรวมกันเป็นโครโมโซม